โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 18 มกราคม 2564 , 10:06:37 (อ่าน 1,372 ครั้ง)
เจาะประเด็น รายการ UBU2YOU EP-3 ว่ายน้ำออนไลน์สอนอย่างไร
จากประเด็นในโลกออนไลน์ที่มีการกล่าวถึงเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานี้ คงไม่พ้นประเด็นการสอนว่ายน้ำออนไลน์ ของหลักสูตรศึกษาศาสตร์ วิชาเอกพละศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นคลิปการสอนออนไลน์ โดยประยุกต์การเรียนการสอนว่ายน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ (Online)
โดย รายการ UBU2YOU EP-3 “ว่ายน้ำออนไลน์สอนอย่างไร” วันพฤหัสบดีที่ 15มกราคม 2564เวลา 16.00 – 16.30น. ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรศักดิ์ บุญอาจ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ ในตอนที่ 3ได้เชิญ อาจารย์ศราวุฒิ โภคา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ กล่าวถึง การสอนว่ายน้ำออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย จึงต้องปรับวิธีการสอนเป็นระบบออนไลน์ การเรียนว่ายน้ำนั้น โดยหลักการแล้วไม่ได้ลงสระว่ายน้ำทุกครั้ง แต่เป็นการฝึกปฏิบัติข้างบน 70เปอร์เซ็นต์ และฝึกในน้ำ 30เปอร์เซนต์ การฝึกเรียนท่าว่ายน้ำประเภทต่าง ๆ นั้น เช่น ท่าฟรีสไตล์ ท่ากรรเชียง สามารถฝึกซ้อมที่บ้านได้ แต่ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทบทวนและฝึกปฏิบัติจริงในท่าที่ถูกต้องเพื่อการต่อยอดในการกลับมาเรียนในครั้งต่อไป ซึ่งหลักสูตรศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพิ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนเป็นปีแรก เป็นความร่วมมือระหว่างคณะศิลปศาสตร์ กับคณะวิทยาศาสตร์ การเรียนการสอนนั้นไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ทุกคนสามารถทำให้สำเร็จได้ อาจารย์ทุกคนมีความตั้งใจที่จะให้ความรู้ อยากให้นักศึกษาทุกคนตั้งใจเรียน และลงมือปฏิบัติจริง
พร้อมนี้ นายศิกษก บุญคง นักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (เอกพลศึกษา) คณะศิลปศาสตร์ กล่าวถึง การเรียนออนไลน์ ดังนี้ ตนเองเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ก่อนที่จะตัดสินใจมาเรียน ได้สืบค้นข้อมูลเพื่อสมัครเรียน ทราบว่า ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดหลักสูตรศึกษาศาสตร์เป็นปีแรก จึงตั้งใจมาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พอได้มาเรียนรู้สึกประทับใจ บรรยากาศในการเรียนสนุก อาจารย์เป็นกันเอง รู้สึกผ่อนคลาย สำหรับการเรียนออนไลน์ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต่างจากการเรียนที่ห้องเรียน ถ้านักศึกษาทุกคนตั้งใจเรียน ต้องทำให้ตนเองรู้สึกสนใจในการเรียนในแต่ละวิชา กระตุ้นตัวเองและใช้จินตนาการในการเรียนเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น และจะทำอย่างไรที่จะเก็บเกี่ยวความรู้ในวิชาที่เรียนให้ได้มากที่สุด
ปริญญา บุญศรัทธา,เทอดภูมิ ทองอินทร์ ข่าว/ภาพ