โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 , 21:46:56 (อ่าน 2,609 ครั้ง)
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของบุคลากรทางการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการดำรงตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการ ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาวิชาภาษาจีน คนแรกของประเทศไทยโดย รองศาสตราจารย์เมชฌ สอดส่องกฤษ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์สาขาภาษาจีนและการสื่อสาร ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 8/2564เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 พิจารณาอนุมัติบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการเสนอกระทรวง อว.นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามขั้นตอนต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ประธานหลักสูตรสาขาภาษาจีนและการสื่อสารปัจจุบัน อายุ 48 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดบุรีรัมย์ สำเร็จปริญญาตรี ศศ.บ.(ดนตรีไทย เอกขับร้องและเครื่องสายไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำเร็จปริญญาโท ศศ.ม. (ภาษาศาสตร์ (ภาษาเขมร) มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จปริญญาเอก Ph.D.(Chinese Linguistics and Philology) Nanjing Normal Universityสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.2558ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ.2559 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นของตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาภาษาจีน รู้สึกสบายใจที่สามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วง มีความสุขที่ได้เห็นผู้คนแวดล้อม ญาติสนิท มิตรสหาย ครูอาจารย์ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงานมีความปีติยินดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ รู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานได้รับการประเมินคุณภาพจนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงในครั้งนี้ ตนคิดเสมอว่าตำแหน่งวิชาการไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเราเหนือชั้นกว่าใคร หรือเก่งกาจกว่าใคร แต่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราทำงานวิชาการอะไร และมีคุณภาพระดับใด สามารถทำอะไรได้บ้าง โดยส่วนตัวมองว่าในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์สามารถช่วยแนะนำการทำงานทางวิชาการแก่ผู้อื่นได้ สามารถเสนอความคิดเห็นว่าควรทำอะไร ควรทำอย่างไร ส่วนขั้นสูงขึ้นมาคือตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สามารถชี้ความถูก-ผิดได้ สามารถเสนอแนะได้ว่าจะแก้ไขสิ่งที่ผิดนั้นให้ถูกได้อย่างไร การที่เรามีตำแหน่งทางวิชาการก็เป็นเหมือนใบอนุญาตให้เราจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ สามารถช่วยสร้างคนเพื่อให้มาร่วมกันพัฒนาวงวิชาการของเราให้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ที่อยู่ระดับรองศาสตราจารย์ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบัญชีรายชื่อสาขาภาษาจีนมีจำนวนน้อยมาก จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะสร้างผู้ทรงคุณวุฒิในระดับที่จะสามารถชี้แนะ ตลอดจนประเมินและชี้แนวทางแก้ไขให้กับผู้อื่นได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์
ศาสตราจารย์ สาขาภาษาจีนคนแรกของประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่อยากให้มองว่าเป็นคนแรกของประเทศไทยหรือคนเดียวในประเทศไทยอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าจะนับตามความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ถึงอย่างไรตนไม่ได้คิดว่าเหนือชั้นกว่าผู้อื่น ยังมีครูอาจารย์ที่ผลิตผลงานวิชาการจำนวนมาก มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงกว่ามาก เพียงแต่ท่านเหล่านั้นรักการทำงานต่างกัน บางท่านชอบการสอน บางท่านชอบเขียนหนังสือ ชอบทำงานวิจัย ชอบทำงานแปล ซึ่งตนก็ยังใช้หนังสือเหล่านี้เรียนภาษาจีนมาด้วยซ้ำ ส่วนการขอตำแหน่งนั้นตนยื่นขอตามข้อกำหนด มีผลงานวิชาการครบถ้วน และมีคุณภาพตามข้อกำหนด จึงนำไปยื่นขอกำหนดตำแหน่งดังกล่าวได้เท่านั้น
ในส่วนของผลงานวิชาการ งานวิจัยในการยื่นขอตำแหน่ง มี 3 ด้าน ได้แก่ 1.องค์ความรู้ชาวไทยเชื้อสายจีนในอีสานใต้ เช่น ศาสนสถานจีน จิตรกรรมในศาสนสถานจีน จารึกในศาสนสถานจีน นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นต้น 2.ความสัมพันธ์ของภาษาจีนกับภาษาไทย(และภาษาไท) และ 3.นานาภาษาในประเทศจีนตอนใต้ โดยเฉพาะหนังสือด้านที่ 3 เป็นผลงานที่รักมากและตั้งใจมาก เนื่องจากเมื่อครั้งที่เรียนปริญญาโทที่ ม.มหิดล ได้ศึกษาแนวทางการทำวิจัยในสาขานี้ และจากการสืบค้นก็พบว่า ประเทศไทยยังมีข้อมูลเหล่านี้น้อยมาก โดยเฉพาะข้อมูลจากประเทศจีนโดยตรง เรียกได้ว่าขาดแคลนเลยก็ว่า จึงตั้งใจเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ให้ครบทั้งสามตระกูลภาษา ได้แก่ ภาษาตระกูลมอญ-เขมร ภาษาตระกูลจีนทิเบต และภาษาตระกูลไท
ขอบคุณ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน อธิการบดีคณะผู้บริหาร บุคลากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เป็นกำลังใจที่ดีและช่วยเหลือมาโดยตลอด ตลอดจนครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ทุกคนที่ร่วมแสดงความยินดีในครั้งนี้ วันนี้เราได้แสดงความยินดีในระดับมหาวิทยาลัย ยังมีกระบวนการขั้นตอนต่อไปที่ต้องดำเนินการ จนถึงที่สุดคือ การได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นอีกวันที่ภาคภูมิใจที่สุดของชีวิตข้าราชการ ว่าที่ ศาสตราจารย์ เมชฌ สอดส่องกฤษ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
หลักสูตรภาษาจีนและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นับว่าเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมในการเข้าศึกษาของนักเรียน ซึ่งหลักสูตรมีจุดแข็งคือ อาจารย์ผู้สอนมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมแขนงต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนภาษาและวัฒนธรรม ได้แก่ สาขาภาษาศาสตร์ สาขาวรรณคดี สาขาการสอน สาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวัฒนธรรมและจีนศึกษา สามารถผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในระดับสูง สามารถประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นโดยใช้ภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วครอบคลุม และที่สำคัญ หลักสูตรของเราเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับ “ศาสตราจารย์”
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว