โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 11 ธันวาคม 2565 , 21:54:49 (อ่าน 1,142 ครั้ง)
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจ “โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to market-R2M) ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 10คัดเลือกนักศึกษา 6 ทีม ตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับประเทศ โดยรับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชาอธิการบดี เป็นประธาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตรรมและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงาน และ ดร.จรวยพร แสนทวีสุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวต้อนรับ คณะอาจารย์ นักศึกษาจำนวน 22 ทีม จาก 7 สถาบัน เข้าแข่งขัน ทั้งนี้ ทีม The One จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็น 1 ใน 6 ทีม ผ่านการคัดเลือกตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตรรมและบริการวิชาการ กล่าวว่า การแข่งขัน“โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 10”เป็นโครงการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์เป็นการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย พัฒนาสู่การใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ การจัดแข่งขันโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ เป็นการประกวดการวางแผนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ในระยะต้นที่มุ่งเน้นแนวคิดผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ ได้รับความรับมือจากสถาบันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 7 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนครพนม มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ มทร.อีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา ส่งผลงานเข้าประกวดและนำเสนอจำนวน 22 ทีม คัดเลือกตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ทีม เข้าแข่งขันในระดับประเทศต่อไป
ผลการคัดเลือก 6 ทีม ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีม สิริมงคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศ ทีม ออนซอนอีสาน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นและทีม Enigma มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รางวัล THE HONORABLE MENTION AWARDทีม The One มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีม ONE SHOT มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทีม 3S มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในส่วนของ ทีม The One มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ นำเสนอนวัตกรรมและแผนการตลาด ผลงาน “เครื่องตรวจสัญญาณชีพโดยไร้การสัมผัส” ซึ่งเป็นเครื่องตรวจสัญญาณชีพในการวัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดออกซิเจนในเลือด ที่ต่างจากท้องตลาดทั่วไปที่ยังคงใช้แบบสัมผัส เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางการสัมผัสได้ในวงกว้าง ดังนั้น ทีม The One จึงคิดและออกแบบเครื่องตรวจสัญญาณชีพแบบไร้การสัมผัส 100% ขึ้นมา และสามารถตรวจรู้ผลระยะเวลาเพียง 20 วินาที
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว