โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 9 ธันวาคม 2566 , 15:47:12 (อ่าน 711 ครั้ง)
อีกหนึ่งความสำเร็จของการจัดกิจกรรมโครงการการแข่งขันกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ “กันเกราเกมส์ ประจำปี 2566” โดย องค์การนักศึกษา ร่วมกับ สภานักศึกษา และสโมสรนักศึกษาทุกคณะ ร่วมจัดการแข่งขัน ชิงชัย 11 ชนิดกีฬา ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความสำเร็จไม่ใช่เฉพาะการแข่งขันกีฬาได้เหรียญรางวัล ยังมีการปลูกฝังวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามท้องถิ่นอีสาน ผ่านขบวนพาเหรด ของ 10 คณะ 1 วิทยาลัย นำเสนอประเพณีต่างๆ อาทิ ประเพณีพิธีเผาศพบนนกหัสดีลิงส์ ประเพณีบวงสรวงองค์ปราสาทศรีขรภูมิ ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีงานนมัสการพระธาตุนาดูน ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประเพณีเลี้ยงผีฟ้า ประเพณีการละเล่นผีตาโขน ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ประเพณีบุญผะเหวด ประเพณีสี่เผ่าไทยประเพณีสี่เผ่าไทย เป็นต้น พร้อมจัดให้มีประกวดริ้วขบวน ปรากฏว่า ขบวนการแสดงพิธีกรรมสีดาเจ้าปราบนกหัสดีลิงค์ ประเพณีอุบลราชธานี สโมสรนักศึกษาคณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลอย่างสมกียรติในครั้งนี้ ณ สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
นายอัศวดิษ เลี้ยงหิรัญถาวร นายกสโมสรนักศึกษาคณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การประกวดขบวน ในพิธีเปิดกีฬากันเกราเกมส์ 2023 โดย คณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รับผิดชอบงานประเพณีจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีหลากหลายมาก อาทิ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีติดทองหลังพระเจ้าใหญ่อินแปลง เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมีประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก คือประเพณีหรือพิธีกรรมเผาศพบนนกหัสดีลิง การรับนกหัสดีลิง ตามตำนานนั้น การปราบนกหัสดีลิงมีเฉพาะเจ้านายแคว้นจำปาสักสืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี แต่ปัจจุบันพิธีนี้ใช้ในงานพระผู้ใหญ่ และผู้ที่มีสมณศักดิ์สูงด้วย ดูนกหัสดีลิงจะถูกฆ่าโดยผู้ที่สืบเชื้อสายจากนางสีดาเท่านั้น นางสีดาตามตำนานดังกล่าว ไม่ใช่พระมเหสีในเรื่องรามเกียรติ์ แต่เชื่อตามตำนานว่ามีอยู่จริง ซึ่งปัจจุบันนางสีดาที่สืบทอดพิธีกรรมนี้ สืบเชื้อสายจากอุบลราชธานี ที่ชาวอีสานเชื่อถือมากที่สุด
ด้าน นายกฤตินนท์ โคจร สโมสรนักศึกษาฝ่ายศิลปวัฒนธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ออกแบบขบวน และรับบทนางสีดา กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับบทเป็นนางสีดาปราบนกหัสดีลิงในครั้งนี้ สืบสานประเพณีและพิธีกรรมที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน โดยรูปแบบของการนำเสนอทำในรูปแบบสร้างสรรค์ และย่อให้มีความเข้าใจง่ายกับประเพณี นำมาผสมผสานของช่างฝีมือเมืองอุบล ลวดลายและสีสันต่างๆ ถอดมาจากธรรมาสน์สิงห์จังหวัดอุบลราชธานี และตัวป้ายตัวชุดให้มีความเป็นผู้ดีอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในการแต่งตัวแบบอาญาสี่ และนอกจากนี้เรายังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องชุดเสื้อผ้าในการแสดง ซึ่งเราได้ใช้เป็นผ้าของจังหวัดอุบลราชธานี และสไบที่เพิ่งได้จดทะเบียนเป็นสิ่งที่เป็นเอกสิทธิ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ในส่วนของอุปกรณ์ประกอบริ้วขบวน เราได้ออกแบบและวางแผนทำนกหัสดีลิง มีความกว้าง 2เมตร ยาว 3เมตร ความสูงถึงยอด 6เมตร ออกแบบให้มีความเป็นช่างอีสาน มีหัวเป็นนกแต่มีงวงและงาเป็นช้าง ต่างจากลูกหัสดีลิง ภาคเหนือที่มีหัวเป็นช้าง และมีการจัดทำหอธรรมาสน์ทั้ง 4 ทิศ การออกแบบเป็นการใช้ศิลปะแบบประยุกต์ ลวดลายประดับด้วยดอกกะลากลับ ด้วยระยะเวลาในการทำประมาณ 2 สัปดาห์ แต่นักศึกษาทุกคนทุ่มเทร่วมมือกันอย่างสุดกำลัง แม้จะมีอุปสรรคบ้าง ด้วยเวลาจำกัด และงบประมาณจำนวนน้อย แต่พลังที่ทำให้เราทำงานนี้สำเร็จคือความภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีโบราณของจังหวัดอุบลราชธานี ให้คนรุ่นหลังได้ชมและสัมผัส สืบทอดประเพณีต่อไป
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ถ่ายทอดงานพิธีกรรม หรือประเพณีโบราณ ผ่านการศึกษาเรียนรู้ข้อมูล วางแผนการทำงานโดยใช้วิชาชีพที่เรียนมาสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าสนใจ จนได้มาซึ่งรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดขบวน กีฬากันเกราเกมส์ 2023 ครั้งนี้
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว