โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 6 เมษายน 2567 , 23:14:33 (อ่าน 959 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย อนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม
ฉลอง UNESCO ขึ้นทะเบียน เชิญเที่ยวงาน “ม่วนซื่นชื่นบาน สงกรานต์แสงแรก@โขงเจียม”
-----------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย นักวิจัยโครงการ “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” ลงพื้นที่ประชุมหารือความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่นและเอกชนในพื้นที่ และเครือข่ายบุคลากรในพื้นที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม อำเภอโขงเจียม เพื่อจัดเตรียมงานอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ “ม่วนซื่นชื่นบาน สงกรานต์แสงแรก@โขงเจียม”ที่กำหนดจะจัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2567 ณ ลานชมจันทร์ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายอมร พรมสอน นายอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ดร.สายรุ้ง ดินโคกสูง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการต่างประเทศดร.ปาณมน จันทบุตร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารศาสตร์และ ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมการประชุมและสำรวจพื้นที่เตรียมจัดงาน เพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลอง โอกาสที่ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ลำดับที่ 4 ทีมนักวิจัยฯ และชาวอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ขอร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจากทั่วโลก ที่จะเดินทางมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามสู่การท่องเที่ยว การสร้างรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และองค์กรชุมชนรายเดิมและรายใหม่ การพัฒนานวัตกรรมที่เป็นกลไกหรือระบบที่ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากที่ใช้ได้จริง
ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการวิจัย“การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์อำเภอโขงเจียม “ม่วนซื่นชื่นบาน สงกรานต์แสงแรก@โขงเจียม”ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2567 ชมริ้วขบวนแห่นางสงกรานต์ 8 คุ้ม ร่วมสรงน้ำพระ ฮางฮด ณ วัดโขงเจียม โดยมีพิธีเปิดงานสงกรานต์ แสงแรก@โขงเจียม ณ ถนนสายน้ำ(อุโมงค์น้ำ + ซุ้มน้ำของแต่ละหน่วยงาน) หน้าสถานีตำรวจอำเภอโขงเจียม พิธีรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ กินข้าวแลง แญงโขง ชมการประกวดร้องลำทำนองไทอีสาน(ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) ชมการแสดงวงสาวน้อยสองสี และรำวงย้อนยุค ณ เวทีลานชมจันทร์ พิธีทำบุญตักบาตร บริเวณบันไดนาค การประกวดก่อเจดีย์ทราย ณ วัดโขงเจียม ชมคอนเสิร์ต “ม่วนชื่น ชื่นบาน รำวงย้อนยุค” ชมคอนเสิร์ตและการแสดงจากวงดนตรีร้านเช็คชื่อ/ขาขึ้น/แสงตะวัน ประกาศผลการประกวดขบวนแห่จากคุ้มต่าง ๆ และมอบรางวัล เชิญ ชม..ชิม..ช้อป..อิ่มอร่อยกับอาหาร การจำหน่ายสินค้า “ตลาดไทย-ลาว” การออกร้านอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนอำเภอโขงเจียมตลอดการจัดงาน 3 วัน 3 คืน ณ ลานชมจันทร์ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ในการนี้ เพื่อขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ที่ 4 ในการอนุรักษ์ สืบสานและสร้างมูลค่าให้แก่ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้กับเด็ก ๆ เยาวชน ทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านด่าน ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างการตระหนักรู้และสำนึกรักษ์ท้องถิ่น โดยความร่วมมือ แบ่งปัน เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจที่ให้ความร่วมมือ ด้านการศึกษาสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม และสร้างการตระหนักรู้และสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการศึกษาภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์(ภาพเขียนสีผาแต้ม) ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นสถานที่ที่ค้นพบร่องรอยลักษณะการใช้สีโบราณเขียนลงบนผนังถ้ำ มีอายุกว่า 4,000 ปี ถือว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวและเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อความสะดวกและเข้าถึงการรับชมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้มในทุกช่วงวัย ทีมนักวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้และการรับชม โดยพัฒนาผ่านระบบจำลองผาแต้มเสมือนจริงมองเห็นทิวทัศน์ 360 องศา ทั้ง 4 กลุ่มภาพเขียนสี ผ่านการใช้งานบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแว่น VRหรือรับชมผ่านทางลิงค์ “ผาแต้มเสมือนจริง 360 องศา” ได้ที่ https://khongchiam.ubu.ac.th/vt/ และทีมนักวิจัยฯ ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านของนักเรียนโรงเรียนโขงเจียมวิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี วง“เพชรผาแต้มกลองยาว” เป็นการรวมตัวฝึกซ้อมของคณะครูและนักเรียนโรงเรียนโขงเจียม โชว์ความพร้อมเปิดตัวรับงานแสดงของน้อง ๆ นักเรียน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขวัญและกำลังใจ โชว์แสดงเพชรผาแต้มกลองยาวครั้งแรก ณ ลานชมจันทร์ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดและจองคิวแสดงของน้อง ๆ วง “เพชรผาแต้มกลองยาว” และ “วงโปงลางเพชรผาแต้ม” ได้ที่... โทรศัพท์ 08-2517-8099 และ 08-3418-5565
--------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว