โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 21 เมษายน 2567 , 23:30:00 (อ่าน 541 ครั้ง)
ทีมนักวิจัย ม.อุบลฯ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน
กระติบข้าวลายภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ "ผาแต้ม" บ้านท่าล้ง
-----------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ทีมนักวิจัยโครงการวิจัยย่อย “การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริงเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” ลงพื้นที่ภายใต้โครงการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” โดยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานราก ในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นกลไกหรือระบบที่ส่งเสริมและการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากที่ใช้ได้จริง ในพื้นที่ให้พึ่งพาตนเองได้และมีการกระจายรายได้สู่ชุมชน/ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ของทีมนักวิจัยครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนท้องถิ่นในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายบุคลากรในพื้นที่ที่มีบทบาทและความสามารถในการประยุกต์ใช้หรือถ่ายทอดองค์ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้โครงการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” โดยกองทุนส่งเสริมแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ทั้งนี้ ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ส่งเสริม นายชิต แก่นโสม หรือ “พ่อชิต” ช่างจักสาน และชุมชนบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ผู้มีฝีมือดีที่ทุ่มเทให้กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการจักสานด้วยวัสดุไม้ไผ่จากธรรมชาติไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
นายชิต แก่นโสม เป็นชาวบ้านท่าล้ง มีความพากเพียรพยายามและทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่กับงานจักสานที่มีความชื่นชอบมาตั้งแต่สมัยเด็ก ช่วงเช้าจะใช้เวลากับการเดินทางขึ้นเขาเพื่อเลือกไม้ไผ่สร้างผา ที่มีลักษณะพิเศษไม่มีหนามและกระบอกใหญ่ ผิวเรียบเนียนสีเขียวอ่อนอายุ 1 - 2 ปี ซึ่งเป็นอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำมาจักสาน เมื่อเลือกไม้ไผ่สร้างผาได้ในลักษณะตามที่ต้องการแล้ว พ่อชิตก็จะนำมาแปรรูปให้เป็นเส้นตอกสีเขียวอ่อน โดยการขูดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นติวไม้ไผ่ ทำให้ได้เส้นตอกที่มีสีสันสวยงามเป็นประกายเงางามและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของเนื้อไม้ไผ่ เป็นวัสดุที่ใช้ในการจักสานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ กระติบข้าวลายภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ "ผาแต้ม" กระติบข้าวลายช้าง หวดดริปกาแฟ โคมไฟ ซองโทรศัพท์ ปิ่นโต และการจักสานเป็นรูปหัวใจ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มความโดดเด่นในผลงาน พ่อชิตยังประยุกต์ใช้สีจากธรรมชาติในการย้อมเส้นตอก โดยนำเปลือกไม้ประดู่ผสมกับเปลือกไม้เค็งหรือเปลือกไม้กระโดนมาต้ม นำมาเป็นสีย้อมเส้นตอก จากนั้นนำตอกลงไปแช่ในน้ำต้มเปลือกไม้ดังกล่าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสีสันในงานจักสานให้มีความสวยงามตามธรรมชาติและติดทนนานมากยิ่งขึ้น
ในการนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โครงการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” ลงพื้นที่ร่วมกับ ชุมชนบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคิดค้นลวดลายและถอดแบบในการจักสานสร้างแรงบันดาลใจจากรูปเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "ตุ้ม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฎบนภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม จนสำเร็จและได้ลวดลายกระติบข้าวลายภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ “ผาแต้ม” เป็นเอกลักษณ์และยกระดับในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจักสานกระติบข้าวให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านท่าล้งอย่างยั่งยืน
จากความภาคภูมิใจและความสำเร็จของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสุดยอดฝีมือ นายชิต แก่นโสม หรือ “พ่อชิต” ช่างจักสาน จากชุมชนบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายกระติบข้าวลายภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ “ผาแต้ม” แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในการอนุรักษ์และความสำคัญของศิลปะการจักสานที่ทรงคุณค่า สร้างความมุ่งมั่นให้ พ่อชิต แก่นโสม คงเดินหน้าในการอนุรักษ์สืบทอดและมุ่งที่จะพัฒนาศิลปะการจักสานไม้ไผ่ พร้อมทำหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคการจักสานสู่รุ่นต่อ ๆ ไปให้คงอยู่คู่ชุมชนบ้านท่าล้งตลอดไป
สนใจสอบถามและสั่งจองกระติบข้าวลายภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ “ผาแต้ม” และผลิตภัณฑ์จักสานได้ที่ นายชิต แก่นโสม โทรศัพท์ 092-494-0585 ที่อยู่ 21 หมู่ 5 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 34220
-------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว