มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ยุวชนวิทย์ คิดนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 19 สิงหาคม 2567 , 21:01:06     (อ่าน 615 ครั้ง)  



คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567

“ยุวชนวิทย์ คิดนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน”

---------------------------------------

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะวิทยาศาสตร์ จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ยุวชนวิทย์ คิดนวัตกรรม เพื่อเศษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน” (Youth Innovations for a Sustainable Green Economy)” วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะวิทยาศาสตร์ โดยมี นายเดชดนัย สาระโพธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยรองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เป็นประธาน อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดกรวยถวายสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร  จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งนี้ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และปลูกฝังให้เยาวชนมีเจตคติที่ดี เห็นความสำคัญและและความจำเป็นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศ  

          ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร  จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กำหนดจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “ยุวชนวิทย์ คิดนวัตกรรม เพื่อเศษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน” (Youth Innovations for a Sustainable Green Economy)” ทั้งนี้ เพื่อสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ในหลวงรัชกาลที่ 4 และภายในงานกำหนดให้มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 และการจัดบูธนิทรรศการความรู้ของคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อเสริมทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก พร้อมทั้งเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การแข่งขันทักษะ การตอบปัญหา และการแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และในปีนี้ยังมีกิจกรรมใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ เช่น การแข่งขันสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ Globe SciUBU และการแข่งจันหุ่นยนต์

           โดยการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567ในปีนี้ กำหนดให้มีกิจกรรมแสดงความยินดีกับ “นักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2567” จำนวน 4 คน ได้แก่ ดร.องอาจ  เทียบเกาะ รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น รองศาสตราจารย์ ดร. ปุริม  จารุจำรัส รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติดีเด่นรองศาสตราจารย์ชัยวุฒิ  วัดจัง  ได้รับรางวัลผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรมดีเด่น จากผลงานอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชื่อ“กาวจากน้ำยางธรรมชาติเพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์ประเภทเสื่อและผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ” และผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชวุฒิ   โคตรลาคำ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ดีเด่น จากผลงาน “โครงการการจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือนด้วยถังหมักรักษ์โลก” จากนั้น เป็นพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและช่อดอกไม้รางวัล“บัณฑิตศึกษาดีเด่น” จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายอัครพงศ์  ประกอบกิจ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเคมี และนางสาวพุทธรักษา  นาคเสน นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเคมีโดยมีนักศึกษาที่ได้รับเกียรติบัตรและช่อดอกไม้รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 3 ราย ได้แก่นางสาวนิตยา  ทองพูล นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีววิทยาสิ่งแวดล้อมนางสาวบงกชวรรณ  พาคำวงค์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเคมีและนางสาวกานพิชชา  สมเนตร นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเคมี

           พร้อมพิธีมอบตราพระราชทานฯ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เครือข่ายท้องถิ่นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลอุ่นไอรักเลิศวัฒนาโรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ รับตราพระราชทานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย รอบที่ 3 ระดับปฐมวัย และโรงเรียนบ้านเด็กวารินชำราบ รับตราพระราชทานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย รอบที่ 1 ระดับปฐมวัย จากนั้นเป็นการมอบรางวัล Science Smart Teacher 202รางวัลระดับชมเชย 1 รางวัล เงินรางวัล 1,000 บาท ได้แก่ ดร.ธีรวัฒน์  ภิรมจิตรผ่อง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ รางวัลระดับดี 2 รางวัล เงินรางวัล 2,500 บาท ได้แก่ อาจารย์พงศ์ธร  แสงชูติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และดร.ศันศนีย์  ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี และรางวัลดีเด่น 1 รางวัล เงินรางวัล 5,000 บาท ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กานต์ตะรัตน์  วุฒิเสลา อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี

           และทางคณะวิทยาศาสตร์ขอขอบคุณหน่วยงานและผู้ประกอบการ ที่มีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 รวม 14 ราย ได้แก่ นายมีชัย  พิจารณ์ Ubon TP ROBOTICS 6,600 บาท บ้านฟิสิกส์ ดร.ส้มโอ บ้านศุภลักษณ์ ในนาม รศ.ดร.เชิดศักดิ์  บุตรจอมชัย 5,000 บาท ร้านวารินเซอร์กิต 1,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลคอมพิวเตอร์แอนด์ เทเลคอม เซอร์วิส 5,000 บาท ดร.อมร  เทศสกุลวงศ์ 3,000 บาท บริษัท เซิร์นเทค จำกัด 3,000 บาท บริษัท ไทยวิกตอรี่ จำกัด 3,000 บาท บริษัท อุบลบิ๊กพี จำกัด 2,000 บาท บริษัท เวิลด์ เอ็นไวร์ เทคโนโลยี จำกัด 2,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลเซ็นทรัลสปอร์ต 2,000 บาท และธนาคารออมสิน สาขาวารินชำราบ 1,000 บาท

           โดยการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งนี้ ยังกำหนดให้มีการประกวดการแข่งขันทักษะการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การประกวด Science Showการประกวดสื่อสร้างสรรค์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การจัดกิจกรรมและนิทรรศการภาควิชาต่าง ๆ และการจัดการแข่งขันทางวิชาการเพื่อคัดเลือกผู้แทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าแข่งขันในระดับประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย 4 กิจกรรม ได้แก่ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น การแข่งขันวาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และการแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อคัดเลือกผู้แทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าแข่งขันในระดับประเทศต่อไป      

         สำหรับการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติครั้งนี้ นับเป็นอีกส่วนหนึ่งของพันธกิจหลักมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีความสอดคล้องด้านการบริการวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม และเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต  

-----------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag : #SDG1 #SDG4 #SDG17