โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 2 กันยายน 2567 , 11:45:14 (อ่าน 238 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้ารางวัล BRONZE Award ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ครั้งที่ 19 ผลงานโครงการวิจัย ปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง พัฒนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และเป็นตัวแทนรับถ้วยรางวัล BRONZE Awardพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ซึ่งมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานมอบ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานที่เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงภายใต้บูธของหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาในระบบวิจัย จำนวนกว่า 130 หน่วยงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเปิดเผยว่า โครงการวิจัยปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม หัวหน้าโครงการวิจัย ในการศึกษาลักษณะของยีน Fatty acyl desaturase และ Fatty acyl elongase ในปลาดุกบิ๊กอุย เพื่อศึกษาการแสดงออกของยีน และกระตุ้นการทำงานของยีนที่ทำหน้าที่ในการสร้างเอ็นไซม์ FAdes และ FAelon ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกรดไขมันในอาหารให้เป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงและสะสมในกล้ามเนื้อ เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากนั้น ได้นำผลการศึกษาไปพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการสร้างและสะสมกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงในกล้ามเนื้อสำหรับการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย จำนวน 3 สูตร นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงปลาด้วยการจัดการอัตราความหนาแน่น การจัดการคุณภาพน้ำ การจัดการการย่อยสลายของเสียด้วยจุลินทรีย์ จำนวน 2 ระบบ ประกอบด้วย 1) ระบบการเลี้ยงปลาดุกที่เพิ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (โอเมกา-3) ในบ่อดินแบบไบโอฟาร์ม และ 2) ระบบการเลี้ยงปลาดุกที่เพิ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (โอเมกา-3) แบบไบโอฟอล์ค (Bio-Floc)
ทั้งนี้ เมื่อนำระบบการเลี้ยงปลาร่วมกับการให้อาหารจากสูตรอาหารที่พัฒนาขึ้น 3 สูตร พบว่า คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อปลามีระดับของโปรตีนเพิ่มขึ้น ระดับของไขมันและพลังงานรวมทั้งหมดลดลง จึงจัดเป็นอาหารฟังก์ชันและอาหารปลอดภัยที่เหมาะสมต่อผู้บริโภค ผลผลิตที่เกิดจากการพัฒนาระบบการเลี้ยง ได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปลาทั้งตัวแช่แข็ง (Frozen Whole Fish) ปลาหั่นชิ้นแช่แข็ง (Frozen Fish Steak) ปลาแล่แช่แข็ง (Frozen Fish Fillet) ปลาดุกหยอง ปลาดุกแผ่น โครงการวิจัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท โอเมกา แอนด์ ออร์แกนิค ฟาร์ม จำกัด
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอบคุณคณะนักวิจัยปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า ประกอบด้วย รศ.ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม ผศ.ดร.ปัญจภรณ์ ทัดพิชญางกูร พรหมโชติ นายชัยยงค์ ภูมิพระบุ นางสาวนาวินี สุตัญตั้งใจ และ นางสาวชนิศรา หมดกรรม ที่เป็นผู้จัดนิทรรศการและนำเสนอผลงาน โครงการนี้ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัย แต่ยังเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงที่เป็นประโยชน์ในอนาคต
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ / ข่าว
Tag อื่นๆ : #การจัดการศึกษา